“All that photography’s program of realism actually implies is the belief that reality is hidden. And, being hidden, is something to be unveiled.”
Susan Sontag, On Photography
Ansel Adams เคยกล่าวไว้ว่า ตนเองรู้สึกพอใจแล้วหากว่าสามารถสร้างภาพที่ดีได้ปีละ 12 ภาพ ตัวเลขจำนวนนี้ดูเหมือนจะเป็นการถ่อมตัวมากสำหรับผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นศิลปินภาพขาวดำที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่ง แต่อย่าลืมว่าพวกเราส่วนมากมักจะผิดหวังกับภาพถ่ายของตัวเองอยู่เสมอ โลกภายนอกช่างงดงามแต่ภาพถ่ายนั้นกลับตรงกันข้าม
มีเหตุผลที่ดีพอที่จะอธิบายความล้มเหลวอันนี้ได้ โดยทั่วไปเราจะถ่ายภาพซับเจ็คที่เป็น 3 มิติ และเคลื่อนไหวได้ และเรามองภาพโดยวิธีกวาดสายตาไปมามากกว่าจ้องมองที่จุดใดจุดหนึ่งนิ่งๆ แต่สิ่งที่เลนส์ถ่ายภาพสามารถบันทึกได้นั้นเป็นเพียงภาพ 2 มิติ ที่ถูกบันทึกในเสี้ยวนาทีหนึ่งด้วยฟิล์มชนิดหนึ่ง ฟิล์มและตาของเราจึงมองภาพได้ไม่เหมือนกัน การคาดคะเน(Pre-Visualization)ในสิ่งที่ฟิล์มมองเห็นนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และที่ยากกว่านั้นก็คือสิ่งที่ Susan Sontag ได้กล่าวไว้ นั่นคือ “ความเป็นจริง” ถูกซ่อนเร้นจากสายตาของเราตั้งแต่แรกเริ่ม
ทำไมการมองเห็นอย่างถ่องแท้นั้นช่างยากเย็นนัก สาเหตุมาจากความจริงที่ว่า เรามองสิ่งต่างๆรอบตัวเราด้วย “สมอง” มากกว่าด้วย “สายตา” และเพื่อให้เข้าใจเรื่องการมองเห็นเราต้องมาทำความเข้าใจเรื่องการทำงานของสมองเสียก่อน
สมองของคนเราแบ่งเป็น 2 ซีก คือสมองซีกซ้ายและสมองซีกขวา โดยทั้งสองซีกถูกเชื่อมต่อกันด้วยโครงข่ายเส้นประสาทที่เรียกว่า “Corpus Callosum” ซึ่งทำให้สมองทั้งสองซีกสามารถติดต่อสื่อสารกันได้ สมองทั้งสองจะทำงานเป็นอิสระต่อกัน มีวิธีการคิดและประมวลผลข้อมูลแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
สมองซีกซ้าย (L-Mode) จะทำหน้าที่เกี่ยวกับภาษาถ้อยคำ การวิเคราะห์คำนวณ การคิด และควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายซีกขวา ต่อไปนี้เราจะเรียกมันว่า “สมองด้านเทคนิค” เพราะเราใช้สมองซีกนี้จัดการทางด้านเทคนิคต่างๆที่ใช้ในการถ่ายภาพ เช่นคำนวณค่าแสง หาเวลาล้างฟิล์มที่เหมาะสม
ส่วนสมองซีกขวา (R-Mode) ประมวลผลข้อมูลทางด้านองค์รวม การรับรู้ สัญชาตญาณ จินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ และควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายซีกซ้าย เราจะเรียกมันว่า “สมองด้านสร้างสรรค์” เพราะมุมมองที่สร้างสรรค์นั้นเกิดจากสมองซีกนี้
โดยส่วนมากสมองทั้งสองซีกจะทำงานแทรกแซงซึ่งกันและกันมากกว่าที่จะทำงานเสริมกัน สมองซีกหนึ่งมักจะโดดเด่นกว่าอีกซีกหนึ่งเสมอ และส่วนใหญ่สมองด้านเทคนิคจะโดดเด่นกว่าด้านสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นผลมาจากวัฒนธรรมตะวันตกที่มีอิทธิพลแผ่ขยายไปทั่วโลก
สังคมตะวันตกจะให้ความสำคัญกับระบบเหตุผล และการวิเคราะห์คำนวณมากกว่าสัญชาตญาณ ความรู้สึกนึกคิด และเรื่องทางจิตวิญญาณ นักวิทยาศาสตร์จะสนใจเฉพาะสิ่งที่สามารถวัดออกมาเป็นปริมาณได้เท่านั้น เรื่องราวทางด้านอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด และจิตวิญญาณจึงถือว่าไม่เป็นวิทยาศาสตร์เพราะไม่สามารถวัดปริมาณออกมาได้และเป็นเรื่องที่ไม่แน่นอนซึ่งขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแต่ละบุคคล หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือสังคมตะวันตกจะให้ความสำคัญกับสมองด้านเทคนิคมากกว่าด้านสร้างสรรค์ นั่นเป็นเรื่องน่าเศร้าเพราะมีบ่อยครั้งที่สมองด้านสร้างสรรค์สามารถแก้ปัญหาที่ซับซ้อนได้ดีกว่าสมองด้านเทคนิค มีเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับการที่นักวิทยาศาสตร์สามารถแก้ปัญหาหรือสมการทางคณิตศาสตร์ในขณะกำลังฝัน ทำสมาธิ หรือเดินเล่นตามชายหาด คำตอบมักจะเข้ามาในหัวของเขาเองโดยที่เขาไม่ได้คิดถึงปัญหานั้นๆเลยด้วยซ้ำ
และด้วยเหตุว่าสังคมไทยได้ละทิ้งภูมิปัญญาตะวันออก และหันไปตามก้นฝรั่งกันหมด จึงทำให้วิธีคิดแบบตะวันตกดังกล่าวแทรกซึมอยู่ในตัวเรา โดยแม้กระทั่งตัวเราเองก็อาจจะไม่รู้ที่มาที่ไป ระบบการศึกษาในโรงเรียน(ซึ่งเป็นผลมาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมเช่นกัน)ก็ไม่ได้ส่งเสริมให้มีการแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์เลย
นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่าสมองด้านเทคนิคนั้นมักจะตีตราสิ่งต่างๆออกมาเป็นถ้อยคำเสมอ (“ช้อน”, “โต๊ะ”, “ปากกา”) ในขณะที่สมองด้านสร้างสรรค์จะไม่สามารถบอกชื่อของสิ่งต่างๆได้ แต่สามารถบ่งบอกลักษณะรายละเอียดของสิ่งต่างๆได้
ตัวอย่างการทำงานของสมองทั้งสองด้านก็เช่น ในโรงเรียนเราเรียนวิชาพฤกษศาสตร์ เรียนการจำแนกแยกแยะพืชต่างๆโดยดูจากลักษณะพื้นฐานของพืชนั้นๆแล้วให้ชื่อมันตามสกุล ตามวงศ์ นั่นคือเราพากันตั้งชื่อให้พืชต่างๆแล้วก็ลืม “ความเป็นพืช” ชนิดนั้นไป สมองด้านเทคนิคไม่ได้สนใจว่าพืชชนิดนั้นมีรูปร่างหน้าตาหรือลักษณะเด่นเป็นอย่างไร เพราะมันรู้จักพืชชนิดนั้นแล้ว(โดยการตั้งชื่อ - มันสามารถเรียกชื่อพืชชนิดนั้นถูกต้องก็แสดงว่ามันรู้จักพืชชนิดนั้นแล้ว) ส่วนสมองด้านสร้างสรรค์นั้นจะรู้ถึงลักษณะรายละเอียดของพืชชนิดต่างๆดี แต่มันก็ถูกสมองด้านเทคนิคครอบงำเอาเสีย จึงทำงานได้ไม่เต็มที่
การถ่ายภาพ การวาดภาพ และดนตรี จะเกี่ยวข้องอยู่กับการรับรู้ ความคิดสร้างสรรค์ และการจัดการทางด้านรูปแบบเพื่อให้ผลลัพธ์ที่ได้สามารถตอบสนองอารมณ์ความรู้สึกของศิลปินได้ นั่นคือศิลปะเป็นเรื่องราวของสมองด้านสร้างสรรค์เสียส่วนมาก โดยใช้สมองด้านเทคนิคเพียงเล็กน้อย เป็นที่น่าสังเกตว่าศิลปินถ่ายภาพดังๆ หลายท่านก็มีพื้นฐานทางด้านดนตรีมาก่อน ไม่ว่าจะเป็น Ansel Adams หรือ Ernst Haas
สาเหตุที่พวกเราส่วนมากไม่เคยเข้าถึง “ความเป็นจริง” ตามที่ Susan Sontag ได้กล่าวไว้ สามารถแจกแจงได้ดังนี้
1. เรา “มอง” ด้วยสมอง(ด้านเทคนิค)มากกว่าด้วยสายตา
2. สิ่งที่เราคาดหวังว่าจะได้เห็นถูกให้ความสำคัญมากกว่าลักษณะของซับเจ็คที่เป็นอยู่จริงๆ
3. เรามักจะคิดว่าเรารู้จักบางสิ่งบางอย่างในทันทีที่เราตั้งชื่อให้กับมัน Kozloski บอกว่า “ภาษานั้นแยกมนุษย์ออกจากความเป็นจริง”
เราจะทำให้สมองด้านสร้างสรรค์โดดเด่นขึ้นมาได้อย่างไร? เราจะเข้าถึง “ความเป็นจริง” ได้อย่างไร? เราจะสามารถเลือกใช้สมองทั้งสองด้านตามที่ต้องการได้หรือไม่? เราลองมาฟังคำแนะนำของบุคคลที่ได้ชื่อว่ามีความคิดสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมกันก่อน
#Andrew Wyeth: “ผมอยากให้ตัวเองสามารถวาดภาพได้โดยไม่มีตัวผมอยู่ ให้มีแต่มือของผมอยู่ตรงนั้นก็พอ”
#Minor White: “จิตใจของช่างภาพขณะที่กำลังถ่ายภาพนั้นต้องว่างเปล่า คุณต้องดำดิ่งเข้าไปอยู่ในทุกสิ่งทุกอย่างที่คุณเห็นเพื่อที่คุณจะได้รู้จักและเข้าถึงสิ่งนั้นอย่างแท้จริง”
#Richard Hittleman: “จะไม่มีสิ่งที่ถูกเห็นและผู้ที่มองเห็นมัน ทั้งสองสิ่งนี้เป็นหนึ่งเดียวกัน”
# Susan Sontag: “Cartier-Bresson มักคิดว่าตัวเองเป็นนักยิงธนูแบบเซนผู้ซึ่งจะต้องทำตัวเป็นเป้าเพื่อจะยิงให้ถูกเป้า คุณต้องคิดก่อนหรือหลังจากที่คุณกำลังถ่ายภาพ ไม่ใช่คิดขณะถ่ายภาพ”
#Henri Cartier-Bresson: “ผมพบว่าคุณต้องทำตัวให้พลิ้วเหมือนปลาในน้ำ คุณต้องลืมตัวเองเสีย แน่นอนว่ามันต้องใช้เวลา การวาดภาพนั้นทำได้ช้า แต่มันก็เหมือนกับการทำสมาธิในแง่ที่ว่าคุณต้องเรียนรู้ที่จะทำอย่างช้าๆเพื่อที่จะไปอย่างรวดเร็ว ความช้าอาจหมายถึงความยิ่งใหญ่ได้”
#Wynn Bullock: “ผมไม่ต้องการบอกว่าต้นไม้มีลักษณะเช่นไร ผมต้องการให้มันบอกบางสิ่งแก่ผม และให้มันแสดงถึงความหมายของมันในธรรมชาติผ่านทางตัวผม”
#Ernst Haas: “I am not interested in shooting new things – I am interested to see things new. ”
#Paul Strand: “สำหรับคนที่สามารถมองเห็นได้อย่างแท้จริงแล้ว ภาพถ่ายของเขาก็เปรียบเหมือนบันทึกชีวิตของตัวเขาเอง คุณอาจจะมองเห็นหรือได้รับอิทธิพลจากผู้อื่น หรือแม้กระทั่งอาศัยผู้อื่นในการค้นหาตัวเอง แต่ถึงที่สุดแล้วคุณก็ต้องเป็นอิสระจากคนเหล่านั้น เหมือนกับที่ Nietzscheได้พูดว่า “ผมได้อ่านหนังสือของ Schopenhauer จบแล้ว และถึงเวลาแล้วที่ผมต้องกำจัดเขาออกไป” เขารู้ดีถึงอันตรายที่แฝงอยู่ในความคิดเห็นของผู้อื่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีประสบการณ์ที่ลึกซึ้งถ้าคุณปล่อยให้เขาเหล่านั้นมาคั่นกลางระหว่างตัวคุณและมุมมองของคุณ”
แล้วก็มาถึงปัญหาที่ยากกว่านั่นคือ เราจะเอาเทคนิคและความคิดสร้างสรรค์ในการถ่ายภาพมารวมกันได้อย่างไร ผมพบว่าวิธีที่ดีที่สุดคือ การทำความเข้าใจเทคนิคการถ่ายภาพให้ถ่องแท้ เพื่อว่าเราจะได้ไม่ต้องอาศัยสมองด้านเทคนิคขณะถ่ายภาพมากนัก ผมขอเสนอวิธีการดังนี้
1. อย่าพูดคุยขณะถ่ายภาพ ถ้าเป็นไปได้ให้ออกถ่ายภาพคนเดียวตามลำพัง
2. มองฉากหลังของภาพให้เป็นรูปร่างที่อยู่รอบๆซับเจ็ค และให้ความสนใจกับรูปร่างของเงาในภาพเป็นพิเศษ สมองด้านเทคนิคจะเบื่อกับการมองเช่นนี้ และจะปล่อยให้คุณอยู่กับสมองด้านสร้างสรรค์ตามลำพัง
3. อย่าคิดในขณะถ่ายภาพ ปล่อยให้จิตใจของคุณว่างเปล่าและซึมซับกับซับเจ็คของคุณให้มากที่สุด
4. และเพราะว่าสมองด้านสร้างสรรค์ควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายซีกซ้าย ฉะนั้นพยายามถือกล้องหรือสายลั่นชัตเตอร์ด้วยมือซ้าย
5. สมองด้านเทคนิคจะรู้สึกสับสนกับภาพสะท้อน เช่นภาพสะท้อนผิวน้ำหรือสะท้อนกระจก เพราะฉะนั้นถ้าเป็นไปได้ใช้ภาพสะท้อนเหล่านี้ให้เป็นประโยชน์
6. ฝึกทำสมาธิเพื่อทำให้จิตใจสงบและทำให้จิตใจแน่วแน่
7. พยายามศึกษาและชมภาพวาดหรือภาพถ่ายของศิลปินที่คุณชื่นชอบหรือที่มีชื่อเสียง โดยเฉพาะผู้ที่มีสมองซีกขวาทำงานได้ยอดเยี่ยม (สมองด้านความคิดสร้างสรรค์)
8. พยายามใช้การอุปมาอุปไมยในการสื่อความหมาย เช่น การเลียนแบบกิริยาท่าทางของมนุษย์ในสัตว์บางประเภท การใช้ดอกทานตะวันแทนพระอาทิตย์ขึ้น (Edward Weston ชำนาญมากในการถ่ายภาพลักษณะนี้)
9. ต้องมีความอดทน ในขณะที่คุณขับรถหรือนั่งในรถคุณจะพลาดภาพที่ดีไปมาก แต่ถ้าคุณเดินคุณจะมีโอกาสพบภาพที่ดีมากกว่า
10. พยายามฝึกฝนเรื่องทางด้านเทคนิคต่างๆให้คุณคุ้นเคยกับมันจนกระทั่งสามารถทำมันได้อย่างรวดเร็ว ทำทุกอย่างด้วยวิธีการเดียวกันตามลำดับขั้นตอนที่แน่นอน และฝึกจนคุณสามารถทำมันได้โดยไม่ต้องใช้ความคิด ตัวอย่างเช่น ผมจะวัดแสง, ขึ้นชัตเตอร์, ตั้งค่ารูรับแสงและความเร็วชัตเตอร์, ใส่โฮลเดอร์ฟิล์ม, ดึงแผ่นสไลด์กั้นแสงออก, กดชัตเตอร์, ใส่แผ่นสไลด์กลับที่เดิม ทำเช่นนี้ทุกครั้งจนกลายเป็นเรื่องอัตโนมัติ และเมื่อถึงเวลาที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์คุณก็จะจดจ่ออยู่กับมันมากกว่าที่จะมัวคิดเรื่องวิธีการใช้อุปกรณ์
11. ใช้กล้องวิวถ่ายภาพ การมองเห็นภาพหัวกลับนั้นช่วยคุณได้จริงๆ เพราะมันจะทำให้สมองด้านเทคนิคทำงานได้ไม่ดี (Ansel Adams เคยกล่าวถึงข้อดีข้อนี้ของกล้องวิวด้วย และHenry Cartier Bresson ได้ใช้ปริซึมติดเพิ่มเข้าไปในกล้อง35mm เพื่อจะได้มองเป็นภาพหัวกลับ)
12. ถ่ายภาพให้ช้าลง ทำทุกอย่างที่จำเป็นเพื่อให้สมองด้านสร้างสรรค์ทำงานได้ดีขึ้น มองภาพที่คุณจะถ่ายในรูปของ Tone Shape และ Space
13. ปล่อยให้สมองด้านสร้างสรรค์ทำงานจนกระทั่งรู้สึกว่าภาพนั้นจัดองค์ประกอบดีแล้ว ตัวคุณจะรู้เองว่าภาพนั้นดีพอหรือยัง และความเร้นลับก็จะเกิดขึ้นเมื่อทุกสิ่งทุกอย่างมาบรรจบกัน มันเป็นเรื่องทางจิตวิญญาณมากกว่าที่จะบรรยายออกมาเป็นภาษาได้
14. หลังจากนั้นก็ไม่ใช่เรื่องยาก เปลี่ยนมาใช้สมองด้านเทคนิคชั่วคราว วัดแสง, ขึ้นชัตเตอร์, ตั้งค่ารูรับแสงและความเร็วชัตเตอร์, ใส่โฮลเดอร์ฟิล์ม, ดึงแผ่นสไลด์กั้นแสงออก, กดชัตเตอร์
สำหรับผู้ใช้กล้อง 35mm น่าจะสังเกตเอาไว้ว่า เดี๋ยวนี้บรรดามืออาชีพหันมาใช้กล้องที่มีระบบบันทึกภาพแบบอัตโนมัติมากขึ้น เพราะทำให้เขาไม่จำเป็นต้องคิดมากเรื่องค่าแสง เขาปล่อยให้กล้องจัดการกับเรื่องเทคนิคต่างๆเพื่อตัวเองจะได้มีเวลาสนใจกับภาพมากขึ้น
ผมเชื่อเหลือเกินว่า การทำให้สมองซีกขวาใช้งานได้ดีขึ้นจะเป็นการเปิดมิติใหม่ๆในการถ่ายภาพของคุณ และถ้าคุณโชคดีและมีพรสวรรค์เพียงพอ ความคิดสร้างสรรค์จะช่วยเชื่อมโยงระหว่างจิตใจ ความรู้สึก ประสบการณ์ และความมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของคุณให้ปรากฏออกมาในภาพถ่ายด้วย
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น